วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559


ชื่อสมุนไพร
ชะเอมไทย
ชื่ออื่นๆ
ชะเอมป่า(กลาง) ตาลอ้อย(ตราด) ส้มป่อยหวาน(พายัพ) อ้อยช้าง(สงขลา) นราธิวาส อ้อยสามสวน (อุบลราชธานี) กอกกั๋น ย่านงาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Albizia myriophylla Benth.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์
Leguminosae- Mimosaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถายืนต้นขนาดกลาง สูง 5-8 เมตร มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ใบเล็กละเอียดเป็นฝอย เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ยาว 10-15 เซนติเมตร เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนาน มีขนที่ขอบใบ ผิวค่อนข้างเกลี้ยง เส้นใบ 3-5 คู่ แต่ไม่ชัดเจน ไม่มีก้านใบย่อย ก้านใบหลักยาว 1.5-2.7 ซม. มีขนหนาแน่น เหนือโคนก้านใบเล็กน้อยมีต่อม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ลักษณะเป็นพู่ กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกยาว 1.3-2.3 ซม. มีขนยาวกระจายทั่วไป ดอก 7-12 ดอก ดอกรวมเป็นกระจุกที่ปลายก้าน กลีบเลี้ยง หลอดกลีบกว้างไม่เกิน 1 มม. ยาว 1 มม. ปลายแฉกยาว ¼ ของความยาวหลอดกลีบ สีเขียวอ่อน กลีบดอกมีขนาดเล็ก เชื่อมกันเป็นหลอด หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2.5-3.0 มม. ปลายแฉกกว้าง 1 มม. ยาว 2.0-2.5 มม. สีขาวอมเหลือง เกสรตัวผู้ยาว สีขาว 10 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมกันสูง 2.5-3.0 มม. ปลายแยกกันยาว 1.3-1.6 ซม. สีขาว เกสรเพศเมีย รังไข่ยาว 2.0-2.5 มม. มี 9-10 ออวุล ก้านรังไข่ยาว 1 มม. ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 10.5-18.0 มม. สีขาว ผลเป็นฝัก แบน ปลายแหลม กว้าง 2.3-2.5 ซม. ยาว 7.2-15.2 ซม. โคนและปลายแหลม มีเมล็ดนูนเห็นได้ชัด ประมาณ 3-10 เมล็ดต่อฝัก ก้านผลยาว 2.5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลืองถึงน้ำตาลเมล็ด กว้าง 4-6 มม. ยาว 5-8 มม. ตรงบริเวณที่มีเมล็ดจะมีรอยนูนเห็นชัด พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าโปร่งทั่วไป ออกดอกราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม


สรรพคุณ                 
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ ลำต้น เข้ากับเครือไส้ไก่ เครือหมาว้อ เครือตากวง ต้มน้ำดื่ม แก้โรคตับ เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ ราก ช่วยแก้กระหาย ยาระบาย เนื้อไม้ บรรเทาอาการเจ็บคอ
             ตำรายาไทย  ใช้ เนื้อไม้ มีรสหวาน แก้โรคในลำคอ แก้ลม แก้เลือดออกตามไรฟัน บำรุงธาตุและบำรุงกำลัง บำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ต้น รสหวานเอียน ถ่ายลม แก้โรคในคอ ทำผิวหนังให้สดชื่น แก้โรคตา ราก มีรสหวาน ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ และเป็นยาระบาย มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ แก้โลหิตอันเน่าในอุทร และเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น แก้กำเดาให้เป็นปกติ ใบ รสร้อนเฝื่อน ขับโลหิตระดู ดอก รสขมร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำเสมหะให้งวด แก้ดี และโลหิต ผล ขับเสมหะ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น