วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

ชื่อสมุนไพร
ข่า
ชื่ออื่นๆ
กฎุกกโรหินี (กลาง); ข่าตาแดง ข่าหยวก ข่าหลวง (เหนือ) ข่าใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อพ้อง
Languas galanga (L.) Stuntz.
ชื่อวงศ์
Zingeberaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลอมแสด เลื้อยขนานกับผิวดิน มีอายุหลายปี มีข้อปล้องสั้น ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดูคล้ายลำต้น แตกกอ สูง 1.5-2.5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รอบลำต้น เหนือดิน ใบรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 4-11 เซนติเมตร ยาว 25-45 เซนติเมตร กาบใบมีขน ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เส้นกลางใบใหญ่ทางด้านท้องใบเป็นเส้นนูนชัด เส้นใบขนานกัน ก้านใบเป็นกาบหุ้ม ดอกช่อแยกแขนง ตั้งขึ้น ขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 15-20 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวปนเหลือง ดอกแก่สีขาวปนม่วงแดง ดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยคล้ายดอกกล้วยไม้มีขนาดเล็ก มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ กลีบดอกสีขาวแกมเขียว  3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันตลอด ปลายแยกจากกันเป็นปาก แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปากท่อดอกจะมีอวัยวะยาวเรียวจากโคนถึงยอด สีม่วงคล้ายตะขอ 1 คู่ ใต้อวัยวะมีต่อมให้กลิ่นหอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน มี 2 อัน คล้ายกลีบดอก มีเรณู 1 อัน เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นสีม่วงแดง ผลแห้งแตก รูปกระสวยหรือทรงกลม ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่มีสีส้มแดง มี 1-2 เมล็ด เมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศ ดอกใช้เป็นผักจิ้มได้ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

สรรพคุณ   
             ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  เหง้า มีกลิ่นหอม ฉุน รสขม บดเป็นผงละลายน้ำ หรือต้มน้ำดื่ม ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ      
             ตำรายาไทย  ใช้  เหง้าแก่ รสเผ็ดร้อน ขม รับประทานเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียด กินแก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ ขับน้ำคาวปลา ขับรก ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวด แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา แก้ฟกบวม โดยใช้ข่าแก่ฝานเป็นชิ้นบางๆชุบเหล้าโรงทา เหง้าแก่สดแก้โรคน้ำกัดเท้าโดยใช้ 1-2 หัวแม่มือ ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอท่วม ทิ้งไว้ 2 วัน ใช้สำลีชุบทาวันละ 3-4 ครั้ง หรือทาลมพิษ(ทาบ่อยๆจนกว่าจะดีขึ้น) ใบ รสเผ็ดร้อน ฆ่าพยาธิ กลากเกลื้อน ต้มอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ ดอก รสเผ็ดร้อน ทาแก้กลากเกลื้อน ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ แก้ตะคริว ราก รสเผ็ดร้อนปร่า ขับเลือดลม ให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะ และโลหิต หน่อ มีรสเผ็ดร้อนหวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
             ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้  เหง้า ผสมใบมะกา เถาเชือก เขาหนัง หัวยาข้าวเย็นและเกลือ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาถ่าย เหง้าอ่อน ผสมขยันทั้งต้น หัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้นใต้ดิน รักษาโรคกลากเกลื้อน เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเจ็บเมื่อยเส้นเอ็น ยาเสียบคัด ยามะเร็งครุด ยาไอ เป็นต้น

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
              ในหลอดทดลองพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย วัณโรค ฝีหนอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราพวกกลาก และยืสต์ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังมีฤทธิ์ฆ่าแมลง และมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนู สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้ามีฤทธิ์ขับพยาธิ ลดความดันโลหิต ลดไข้ และรักษาแผลที่กระเพาะอาหารและลดการหลั่งของกรด นอกจากนี้ยังต้านการอักเสบของตับ เพิ่มการเคลื่อนไหวของอสุจิ กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่า ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวพบว่า ระดับเม็ดเลือดแดงลดลง และไม่เป็นพิษต่ออสุจิ

องค์ประกอบทางเคมี   
             น้ำมันระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ด ประกอบด้วย eugenol, cineol, camphor, methyl cinnamate, pinene, galangin, chavicol, trans-p-coumaryl diacetate, coniferyl diacetate, p-hydroxy-trans-cinnamaldehyde, kaemferol, quercetin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น