วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559


กระเทียม allium sativum linn.
กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรไทยและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมมีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (กทม.,กลาง) เทียม (ใต้) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หอมขาว (อุดรธานี) หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)
          ในหัวกระเทียมสดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.1-0.4 % มีสารสำคัญ ที่มีกำมะถันหลายชนิดเช่น alliin, allicin, diallyl disulfide, methyl n-propyl disulfide นอกจากนี้แล้วยังมีกรดกำมะถัน เช่น d-glutamyl-s-methylcysteine ส่วนกลิ่นของกระเทียมเกิดจาการย่อย allylcystein sulfoxide หรือ alliin ซึ่งไม่มีกลิ่นให้เป็นสาร allylthiosulfinote หรือ allicin ด้วยเอนไซม์  allinase
         

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


กระเทียมเป็นไม้ล้มลุกและใหญ่ยาว สูง 30-60 ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดิน[2] ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3-4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6-10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก ใบเดี่ยว (Simple leaf) ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง 0.5-2.5 ซม. ยาว 30-60 ซม. ปลายแหลมแบบ Acute ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อยๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (Umbel) ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็กๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5-10 ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาว 40-60 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มม. สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เม็ด ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดเล็ก สีดำ
ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่กระเทียมที่มีชื่อเสียงว่าเป็นกระเทียมคุณภาพดี กลิ่นฉุน ได้แก่กระเทียมจากจังหวัดศรีสะเกษ



ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

จากการทดลองในสัตว์ทดลองหลายชนิดพบว่ากระเทียมสามารถลดปริมาณของ cholesterol และ triglyceride ในเลือดได้ ส่วนการทดลองทางคลินิก พบว่า เมื่อให้น้ำมันหอมระเหยจากกระเทียม กับคนปกติและคนไข้โรคหัวใจที่มีระดับ Cholesterol สูง ในขนาดที่ได้ 0.25 mg /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 10 เดือน พบว่าระดับ Cholesterol ในเลือดลดลง และเมื่อใช้กระเทียมสดกับคนไข้ที่มีไขมันในเลือดสูง ในขาด 25 กรัม วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 25 วัน พบว่า 1ใน 3 ของคนไข้ที่มีระดับ Cholesterol สูง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอีก 2 ใน 3 ลดลงปกติ สารที่มีฤทธิ์ในการลด Cholesterol คือ allicin กระเทียมกับการลดความดันโลหิต พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95 % จากหัวกระเทียมสามารถลดความดันในคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงได้

กระเทียมกับการลดน้ำตาลในเลือด

จากผลการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยการให้สารสกัดกระเทียมด้วย แอลกอฮอล์ให้กับกระต่ายที่ถูกทำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan โดยให้ในขนาด 0.25 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อเทียบกับยา tolbutamide ส่วนสาร allicin มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้พอ ๆ กับ tolbutamide
กระเทียมยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
น้ำคั้นกระเทียมและกระเทียมผงมีผลต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด รวมทั้งเชื้อklebsiella pneumoniae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม และเชื้อ mycobaerium tuberculosis อันเป็นสาเหตุของโรควัณโรค สารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อดังกล่าว คือ สารจำพวกซัลไฟด์ (sulfide) ซึ่งได้แก่ allicin, scordinin และ scordinin A
กระเทียมกับ HIV
จากการทดลองในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดกระเทียมมีสาร ajoene ซึ่งไม่พบในกระเทียมสด แต่จะพบในกระเทียมที่หมักในน้ำมัน สาร ajoene สามารถป้องกัน CD4  Cell จากการติดเชื้อ HIV และยังช่วยลดการสร้างไวรัสตัวใหม่ในเซลล์ที่ติดเชื้อได้อีกด้วย
ใช้กระเทียมอย่างไร  ในชีวิตเราจะใช้กระเทียมในการประกอบอาหารหลายชนิด เช่น น้ำพริกกะปิ ผัดผัก ผักแกล้มหมูทอดกระเทียม ส้มตำ ฯลฯ แม้แต่เรากินข้าวขาหมูยังมีกระเทียมเป็นผักแกล้ม ถ้าจะอธิบายเป็นแบบสมัยใหม่น่าจะอธิบายได้ว่า เพราะข้าวขาหมูมีไขมันสูง ถ้าเรากินกับกระเทียม เข้าใจว่าจะช่วยลดไขมันที่เรากินไปได้ เราจะกินกระเทียมให้ได้คุณค่าของกระเทียมสูงควรจะใช้
“กระเทียมสด ดีที่สุด”
“กระเทียมไทย ให้ผลสูงสุด”
ใช้ขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักต่อหนึ่งกิโลกรัม (ประมาณ 10-15 กลีบต่อวัน)
นอกจากนี้กระเทียมยังช่วยรักษาโรคกลากเกลื้อนได้ โดยนำกระเทียมมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง 5-10 วัน อาการจะดีขึ้นและทาต่อจนกว่าจะหาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น