วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559


หอมใหญ่ (Onion) เป็นพืชหัว (bulb) ปลูกได้ในช่วงฤดูหนาว สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดที่มีการระบายน้ำและอากาศดี เจริญได้ดี ที่ค่าความเป็นกรด-เบสช่วง 6.0–6.8 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 15–24 องศาเซลเซียส และมีความเค็มของดินปานกลาง เป็นพืชล้มลุก ตระกูลเดียวกับหอมแดง ต้นสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีลักษณะกลม มีเปลือกนอกบางๆหุ้มอยู่ เมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาลอ่อน ภายในเป็นกลาบสีขาวซ้อนกัน ลักษณะของมีดอกสีขาว เป็นช่อ มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาวแทงออกจากลำต้นใต้ดิน[1]ช่วงเวลาในการเพาะปลูกและเก็บผลผลิต:ให้ผลผลิต 2 ครั้งใน 1 ปี คือในช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์


       หอมใหญ่ไม่ใช่แค่ผักธรรมดาที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ และไม่ได้ใหญ่แต่ชื่อและขนาด แต่สรรพคุณยังยิ่งใหญ่ด้วย เพราะช่วยป้องกันและรักษา โรคสำคัญๆได้หลายโรค ทั้งแพทย์และนักวิชาการได้ทำการวิเคราะห์หาสารสำคัญในหัวหอม พบว่าอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และสารประกอบที่จำเป็นต่อร่างกายกว่า 300 ชนิด อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน ซีลีเนียม เบตาแคโรทีน กรดโฟลิก เควอซิทินฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ เพคติน กลูโคคินิน ฯลฯ
       
       โดยแคลเซียมจะสังเคราะห์เอนไซม์ที่ ที-เซลล์ (T-cells) มาใช้ในการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมและช่วยเม็ดเลือดขาวในการทำลายและย่อยสลายไวรัส ธาตุแมกนีเซียมจะช่วยทำลายเซลล์มะเร็งและกำจัดไวรัส ธาตุกำมะถันช่วยให้เอนไซม์ตับทำงานขับสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ส่วนสารเควอซิทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ป้องกันอาการแพ้ ขับสารพิษ ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดและปกป้องหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน และลดการเป็นพิษต่อเซลล์ไขมันในเลือดชนิดเลว (LDL)
       
       นอกจากนี้ หอมใหญ่ยังมีสารไซโคลอัลลิอิน ที่สามารถละลายลิ่มเลือด ช่วยในการลดโคเลสเตอรอลและความดันเลือด รวมทั้งสารฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันไขมันไม่ให้เกาะตามผนังเส้นเลือด เพราะหากเกาะมากๆ จะเกิดภาวะเส้นโลหิตอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ และสารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ ที่ช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงสารอัลลิลิกไดซัลไฟด์ ที่ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ
       
       ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา พบว่า หอมหัวใหญ่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งตับและลำไส้ได้ เพราะในหัวหอมจะมีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงมาก จึงช่วยป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
       
       ดร.วิคเตอร์ เกอร์วิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ในสหรัฐอเมริกา บอกไว้ว่า หัวหอมสดถือเป็นยาชั้นเลิศในการเพิ่มไขมันในเลือดชนิดดี (HDL) แค่หอมหัวใหญ่ครึ่งหัวจะช่วยเพิ่ม HDL ได้ถึงร้อยละ 30 ในคนที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีปัญหาโคเลสเตอรอล
       
       ส่วนผลการวิจัยในวารสารวิชาการ “Nature” ระบุว่า หอมหัวใหญ่ป้องกันกระดูกพรุนได้ผลดีกว่าแคลซิโทนิน ซึ่งเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะ โดยสรรพคุณของหอมใหญ่จากการทดลองในหนู เกิดได้ภายใน 12 ชม. นักวิจัยจึงลงความเห็นว่า สำหรับคนเราอาจต้องกินหอมใหญ่วันละ 200-300 กรัม จึงจะได้ผลในการป้องกัน กระดูกพรุน 
       
       โดยในหอมหัวใหญ่ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย แคลเซียม 30 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม เหล็ก 1.0 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม และวิตามินบีหก 0.1 มิลลิกรัม
       
       กล่าวโดยสรุปแล้ว การรับประทานหอมใหญ่ทำให้เจริญอาหาร แก้หวัด คัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ธาตุไม่ปกติ ช่วยขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ ขับพยาธิ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโคเลสเตอรอล ในเลือด แก้ภูมิแพ้หอบหืด เบาหวาน ฆ่าเชื้อโรค ช่วยขจัดสารตะกั่วและโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหารแล้วสะสมอยู่ในร่างกาย ฯลฯ และยังช่วยให้ผู้ที่รับประทานเป็นประจำ มีความจำดีขึ้นด้วย แต่ต้องรับประทานแบบสดๆทุกวัน (ทานร่วมกับอาหารอื่นๆ ก็ได้) แค่วันละครึ่งถึง 1 หัว อย่างน้อย 2 เดือนจึงจะเห็นผล โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวานและโคเลสเตอรอลสูง
       
       แต่อย่ารับประทานในขณะที่ท้องว่าง เพราะอาจจะทำให้เยื่อบุกระเพาะระคายเคืองหรืออักเสบได้ และหากผู้ที่มีกลิ่นตัวอยู่แล้ว หากรับประทานมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เกิดกลิ่นตัวแรงยิ่งขึ้น
       
       ไม่เพียงแต่รับประทานหอมใหญ่แล้วมีประโยชน์สูง แต่สารในหอมใหญ่ยังสามารถสกัดมาผสมในเครื่องสำอางได้ เช่น แชมพูสระผม ยาบำรุงเส้นผม เพราะมีสาร เช่น ไกลโคไซด์ เพคติน กลูโคคินิน ที่ช่วยในการขจัดรังแค ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราต่างๆ และน้ำคั้นจากหัวหอมยังนำมาใช้เป็นยาทาภายนอก เพื่อลดอาการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้พิษแมลงกัดต่อย อาการปวดบวมตามข้อ รักษาผิวหนังที่ถูกน้ำร้อนลวกได้อีกด้วย
       
       สรรพคุณดีๆที่ให้ภูมิคุ้มกันกับร่างกายมากมายอย่างนี้ คงต้องยกให้ “หอมหัวใหญ่” เป็นยาครอบจักรวาลหม้อใหญ่ประจำบ้าน ที่ไม่กินไม่ได้แล้ว

       
       เคล็ด(ไม่ลับ) เกี่ยวกับหอมใหญ่
       
       วิธีเลือกซื้อ
 : หอมหัวใหญ่ที่มีคุณภาพดีนั้นจะต้องมีน้ำหนักมาก ผิวแห้ง และเรียบซึ่งจะทำให้เก็บได้นานขึ้น
       
       วิธีเก็บให้อยู่ได้นาน : หากซื้อมาแล้ว รับประทาน ไม่หมด หอมใหญ่มักจะเน่าเสียเร็ว ดังนั้น วิธีการยืดอายุของหอมใหญ่ให้อยู่ได้นาน มีหลายวิธีให้ลองเลือกใช้ เช่น นำหอมหัวใหญ่ห่อกระดาษ ใส่ลงในถุงพลาสติกอีกชั้น แล้วจึงนำไปแช่ตู้เย็น หรือใช้กระดาษ ฟอยล์ห่อหอมหัวใหญ่ทีละลูกแยกกัน แล้วแช่ตู้เย็น ซึ่งจะทำให้หอมหัวใหญ่คงกรอบและผิวไม่ช้ำ
       
       วิธีหั่นหอมใหญ่ไม่ให้แสบตา : เหตุที่หั่นหอมใหญ่แล้วแสบตาจนน้ำตาไหล เพราะในหัวหอมมีสารประกอบของซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เมื่อเราหั่นหัวหอม สารนี้ก็จะกระจายออกมาในอากาศ และเมื่อเอนไซม์ในหัวหอมมาช่วยเร่งปฏิกิริยากระจายมาเข้าตา ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยากับน้ำหล่อเลี้ยงในตา กลายเป็นกรดซัลฟูลิค ส่งผลให้ตาเกิดความระคายเคืองและแสบร้อน ร่างกายจึงต้องผลิตน้ำตาออกมาเพื่อชะล้าง และลดอาการระคายเคือง
       
       สำหรับวิธีหั่นหอมไม่ให้แสบตาก็มีหลายสูตร เช่น เมื่อปอกเปลือกแล้วใช้มีดจิ้มให้รอบหัว และแช่ในน้ำเปล่าสักครู่ หลังจากนั้นจึงนำมาหั่น หรือจะนำหัวหอมไปแช่เย็นประมาณ 10-15 นาที ก่อนนำมาหั่นก็จะช่วยได้ เพราะความเย็นทำให้ปฏิกิริยาต่างๆ นั้นช้าลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น