วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ชื่อสมุนไพร : ขมิ้นชัน
ชื่อเรียกอื่นๆ ขมิ้น, ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว, ขี้มิ้น และหมิ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L.
ชื่อสามัญ Turmeric
วงศ์ Zingiberaceae
ขมิ้นชันหนึ่งในสมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานของผู้ที่รักในสุขภาพเนื่องจากขมิ้นชันมีองค์ประกอบที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอวิตามินบี1วิตามินบี2วิตามินบี3วิตามินซีวิตามินอีธาตุแคลเซียมธาตุฟอสฟอรัสธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่างๆ นอกจากนี้ขมิ้นชันยังถือเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาอาการและโรคต่างๆได้หลายชนิด ทำให้ขมิ้นชันเป็นที่รู้จักและถูกนำมาพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องในวงการแพทย์และเภสัชกรรม


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
     ขมิ้นชันเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 30-90 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีส่วนที่อยู่ใต้ดินที่เรียกว่า “เหง้า” เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองส้มและมีกลิ่นเฉพาะตัว ใบของต้นขมิ้นเป็นใบเดี่ยวรูปทรงเรียวยาวปลายแหลมกว้าง 12-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ดอกขมิ้นมีสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อแทงออกจากเหง้าแทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ ส่วนผลของขมิ้นชันมีลักษณะกลมเป็นพู
การปลูกขมิ้นชันในดินปนทรายจะให้เหง้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่าการปลูกในดินธรรมดา และขมิ้นชันจะเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 9-11 เดือน และไม่ควรเก็บเกี่ยวขมิ้นในระยะที่เริ่มแตกหน่อ เพราะจะทำให้สารสำคัญบางอย่างในขมิ้นชันลดลง
ในเหง้าของขมิ้นชันจะมีน้ำมันหอมระเหยจะมีอยู่ในประมาณ 2-6% ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยนี่เองที่เป็นแหล่งของสารสำคัญ โดยสารที่พบมากคือ เทอร์มีโรน (termerone) 58-59% และซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25% ปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในขมิ้นชั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุของพืช การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัสหรือโปตัสเซียมระหว่างการปลูกจะทำให้ได้ผลผลิตของขมิ้นชันเพิ่มมากขึ้น แต่อาจทำให้สารสำคัญบางอย่างลดน้อยลง

สรรพคุณทางยา
      ช่วยบำรุงตับ รักษาระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติ หืด ไอ เวียนศีรษะ รักษาอาการปวดและอักเสบเนื่องจากไขข้ออักเสบ 

เพราะมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพิ่มภูมิคุ้นกันให้แก่ร่างกาย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง มีฤทธิ์ขับน้ำดีช่วยในการย่อยและป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีฤทธิ์ขับลม

และมีการศึกษาการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะในประเทศไทย (โรงพยาบาลศิริราช) พบว่า ได้ผลดี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสรรพคุณใหม่ ๆ ของขมิ้นชัน เช่น การป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด การชะลอความแก่ การเป็นสารต้านมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ ซึ่งการกินอาหารผสมขมิ้นชันสามารถทำลายเชื้อไวรัสที่ผ่านมาทางอาหารได้ รวมทั้งสามารถป้องกันมะเร็งจากสารก่อมะเร็งต่าง ๆ 

วิธีทำขมิ้นชัน เป็นยารักษาโรคกระเพาะ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมในกระเพาะ นำเหง้าแก่ล้างให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัดประมาณ 1-2 วัน แล้วบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนหรือบรรจุเป็นแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม เก็บไว้ในขวดสะอาดและปิดให้มิดชิด รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ส่วนวิธีทำแก้อาการท้องร่วงท้องเดิน ใช้เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียดเติมน้ำสะอาดลงไป คั้นเอาแต่น้ำรับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน 

และวิธีทำแก้โรคผิวหนังเรื้อรังหรือสมานแผล นำผงขมิ้นผสมน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็นแผลหรือใช้เหง้าฝนน้ำข้น ๆ ทารักษาโรคผิวหนังผื่นคัน แก้อาการแพ้และอักเสบจากแมลงกัดต่อยหรือรักษาฝี หากมีอาการแพ้ เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ ให้หยุดใช้ในทันที 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น