วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ส้มเขียวหวาน
ชื่อสามัญ : Tangerine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus reticulata Family
ชื่ออื่น : ส้มเขียวหวาน ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มจันทบูร ส้มแป้นกระดาน ส้มแสงทอง ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มจุก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ผลต้นขนาดเล็กถึงกลาง ใบ เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อยหนึ่งใบ ส่วนก้านใบจะแผ่เป็นปีกเรียก winged petiole จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ชนิดของส้ม ถ้านำใบมาส่องดู จะเห็นเป็นจุดใสๆ ซึ่งเป็นจุดของต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป เมื่อขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นหอม เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ลำต้น กิ่งก้าน มีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ดอก ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ หรือปลายยอด มีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล กลม หรือกลมรี ผลแก่ผิวผลสีเหลือง ภายในมีเนื้อและมีเมล็ด เนื้อรับประทานได้ หวานหรือเปรี้ยว
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: เปลือกส้มเขียวหวาน ใช้แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น แก้ลมท้องขึ้น อืดเฟ้อ รักษาโรคผมร่วง ใช้ปรุงยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ
ตำรายาไทยผิวส้มเขียวหวานจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้ผิวส้มเขียวหวาน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวส้มเขียวหวาน อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
anthranilic acid, apigenin, caryophyllene, geraniol, hesperidin, limonene, linalool, myrcene, naringenin, nobiletin, nerol, nomilin, ocimene, phellandrene, pinene, sabinene, sinensetin, tangeretin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ต้านไวรัส ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อไวรัส ผสมในยารักษาโรคตับอักเสบ ต้านอะมีบา ไล่แมลง ต้านยีสต์ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอาการหัวใจเต้นผิดปกติ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านอาการตัวเหลือง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ผสมในยาห้ามเลือด ต้านพยาธิ ฆ่าเห็บ รักษาโรคเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อป้อนน้ำมันหอมระเหยให้หนู หรือกระต่าย ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งคือ มากกว่า 5 ก./กก.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น