วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ชื่อสมุนไพร
ข่อย
ชื่ออื่นๆ
กักไม้ฝอย ส้มพอ ส้มพล ส้มฝ่อ ซะโยเส่ สะนาย ตองขะแหน่ ขรอย ขันตา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Streblus asper Lour.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์
Moraceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดกลาง สูงถึง 5-10 เมตร เปลือกสีเทาอมเขียว เปลือกในสีขาวหนา ผิวเรียบบาง มักมีขนอยู่โดยทั่วไป มียางขาวข้น แตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายแหลมและมีติ่งแหลมสั้น โคนสอบแคบ ผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่างหนามากและสากคายเหมือนกระดาษทราย ขอบใบหยักฟันเลื่อย ก้านใบสั้นมาก ยาว 1-3 มิลลิเมตร หูใบรูปหอก ยาว 2-5 มิลลิเมตร มีขนราบ หลุดร่วงง่าย เส้นใบที่โคนมี 1 คู่ สั้น ไม่มีต่อม ดอก สีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้เป็นกระจุกกลม มี 5-15 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6-10 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกยาว 3-15 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย หรือเกลี้ยง มีใบประดับเล็กๆ 1-2 ใบ ที่โคนก้านใบ บางครั้งพบมีอีก 1 ใบ บนก้าน และมีใบประดับเล็กๆ อีก 2-3 ใบ ที่ปลายก้าน ดอกเพศผู้มีก้านสั้น กลิ่นหอม มีส่วนต่างๆจำนวน 4 วงกลีบรวม ยาว 1 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย เกสรเพศผู้สีขาว ดอกเพศเมียออกเดี่ยว มีก้านยาว กลีบดอกสีเขียวปนเหลือง  มีก้านดอกเล็ก ยาว 1-4 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับมี 2 ใบ รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร แนบไปกับวงกลีบรวม วงกลีบรวมยาว 2 มิลลิเมตร รูปไข่แหลม มีขนเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มิลลิเมตร และยาวขึ้นถึง 6-12 มิลลิเมตร เกลี้ยง ผล สด รูปกลม หรือรูปไข่  ขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร มีเมล็ดเดียว ผลแก่สีเหลืองหรือส้ม ฉ่ำน้ำ เมื่อแรกรวมอยู่กับวงกลีบรวมที่ใหญ่ขึ้น ยาว 5-8 มิลลิเมตร ต่อไปเมื่อแก่จะโผล่จากวงกลีบรวม และวงกลีบรวมจะงอพับ มีกลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้ม ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียคล้ายเส้นด้ายติดอยู่ ก้านผลยาว 7-27 มิลลิเมตร เมล็ดกลม กว้าง 4-5 มิลลิเมตร สีขาวแกมเทา พบตามที่ลุ่ม ป่าเบญจพรรณทั่วไป และป่าละเมาะ ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เส้นใยใช้ทำกระดาษข่อย


สรรพคุณ    
             ตำรายาไทย  ใช้   กิ่งสด ขนาดเล็กนำมาทุบใช้สีฟัน ทำให้เหงือกและฟันทน เปลือกต้น รสเมาฝาดขม นำมาต้มใส่เกลือให้เค็มใช้รักษาโรครำมะนาด แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง เปลือกใช้มวนสูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้นต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล และโรคผิวหนัง ราก รสเมาฝาดขม ปรุงเป็นยารักษาแผลเรื้อรัง แก้โรคคอตีบ เป็นส่วนผสมในยารักษากระดูก ปวดเส้นประสาทและปวดเอว ฆ่าพยาธิ เปลือกราก  รสเมาขมบำรุงหัวใจ พบมีสารบำรุงหัวใจ ใบ รสเมาเฝื่อน น้ำต้มแก้โรคบิด ใบข่อยคั่วชงน้ำดื่มก่อนมีประจำเดือน สำหรับสตรีที่มักมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ใบคั่วกินแก้โรคไต ขับน้ำนม แก้บิด ใช้ภายนอกแก้โรคริดสีดวงทวาร ตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ทำให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้อนดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อย บำรุงธาตุ ยาระบายอ่อนๆ ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  ทั้งต้น ต้มใส่เกลือ แก้ฟันผุ กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคน เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก ผล รสเมาหวานร้อน บำรุงธาตุ แก้ลม แก้กระษัย ขับลมจุกเสียด เป็นยาอายุวัฒนะ เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โลหิตและลม ขับลมในลำไส้
           ตำรายานครราชสีมา  ใช้  ใบ แก้ท้องเสียโดยนำใบ 1 กำมือ ตำให้แหลกผสมกับน้ำประมาณครึ่งแก้วดื่ม เปลือกต้น แก้รำมะนาด โดยนำเปลือกผสมกับเกลือทะเลอย่างละเท่าๆกัน ต้มให้เกลือละลาย อมเช้า-เย็น หลังอาหารและก่อนนอน
          ตำราเภสัชกรรมล้านนา  ใช้  ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน
          ประเทศพม่า  ใช้  เปลือกต้นแก้ท้องร่วง แก้ปวดฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง ต้มน้ำกินแก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องเสีย และแก้มะเร็ง เป็นยาอายุวัฒนะ

องค์ประกอบทางเคมี
          ราก พบสารที่มีฤทธิ์ต่อหัวใจ Cardiac glycoside มากกว่า 30ชนิด เช่น asperoside, strebloside, glucostreblolide

                                                                  เมล็ดข่อย


ขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น