วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


        ตำลึง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Coccinia grandis (L.) Voigt) เป็นไม้เลื้อยที่มีมือจับใช้สำหรับเลื้อยเกาะต้นไม้ใหญ่หรือไม้ปักหลัก มีสีเขียวจัดเป็นสมุนไพรไทย ตำลึงมีชื่อท้องถิ่นอื่นอีกคือ ผักแคบ (ภาคเหนือ) แคเด๊าะ (กะเหรี่ยงและแม่ฮ่องสอน) ตำลึง,สี่บาท (ภาคกลาง) ผักตำนิน (ภาคอีสาน)
                                     



        ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
        ตำลึงเป็นไม้เถามีอายุอยู่ได้หลายปี  เมื่ออายุมากเถาจะใหญ่และแข็งแรงมากขึ้น  เถามีสีเขียวใบไม้  ตามข้อจะมีมือเกาะ  ใบออกสลับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกสีขาวข้างในมีสีเหลืองอ่อน  มีผลคล้ายกับผลแตงกวา  แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก  ผลของตำลึงเมื่อดิบจะเป็นสีเขียว ใบไม้มีลายสีขาวอยู่ด้วย  พอสุกเต็มที่ก็จะมีสีแดงสด ตำลึงปลูกได้เป็นผักที่ดีมาก  ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะในชนบทหรือตามที่รก  ป่าละเมาะ  ริมทาง
       การปลูก  
       ปลูกโดยใช้เมล็ดก็ได้  เก็บเมล็ดพันธุ์จากผลตำลึงที่แก่สุกแดงเอามาตากแห้ง  (แกะเอาเพียงเมล็ด)  เก็บเอาไว้ ทำพันธุ์ได้ดี  หรือจะเพาะเลยก็ได้  ไม่ต้องตากแห้งหยอดเมล็ดในที่เตรียมเอาไว้แล้ว  เป็นพืชขึ้นง่าย  ทนแล้งได้ดี
       ส่วนที่ใช้เป็นยา
  
       เก็บเอาใบที่สดและสมบูรณ์

       รสและสรรพคุณยาไทย 

       รสเย็น  เอาใบสดมาโขลกคั้นเอาน้ำมาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ที่ทำให้ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและคัน

       ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์   

       ใบตำลึงมีสารเคมีที่ตรวจพบคือ  กรด  " อมิโน " หลายชนิด  B-sitosterol  มีรายงานว่าฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ในเวลาอันสั้น   โดยทดลองใช้หนูตะเภา  ไม่มีรายงานว่าฤทธิ์แก้แพ้

        วิธีใช้ 

       ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้  อักเสบ  แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น  ยุงกัด  ถูกตัวบุ้งถูกใบตำแย  แพ้ละอองข้าว  โดยเอาใบตำลึงสด 1 กำมือ (จะใช้มากหรือน้อยตามบริเวณที่มีอาการ)  ล้างให้สะอาด  แล้วเอาไปโขลกให้ละเอียด  ผสมกับน้ำเล็กน้อย  คั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ  พอน้ำแห้งแล้วก็ทาซ้ำอีกบ่อยๆ  จนกระทั่งหาย
          คุณค่าทางด้านอาหาร
  
       ใบตำลึงมีคุณค่าทางอาหารสูง  ประกอบไปด้วย  วิตามิน  เอ  และ อื่นๆ  มากมาย  มีแคลเซียมบำรุงกระดูกและฟัน  มีวิตามิน  ซี  มาก  เกลือแร่ต่างๆ  มากหลายทีเดียว  นอกจากนี้ก็มีโปรตีน  ไขมัน  คาร์โบไฮเดรท  เหล็ก  และอื่นๆ  จึงเป็นอาหารที่ดีมาก  ยอดตำลึงเอามาปรุงอาหารได้มากมายหลายอย่าง  เช่น  แกงจืด  ผัดน้ำมันเป็นผักจิ้ม  ผัดกุ้ง  แกงเลียง  จะเอามาใส่ก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอกหรือเอาไปรวมกับถั่วงอกก็ได้ 

ที่มา  : รักษาโรค  ด้วยสมุนไพร " ยุุวดี  จอมพิทักษ์ "  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น