วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ชื่อสมุนไพร
พนมสวรรค์
ชื่ออื่นๆ
พวงพีแดง (อุบลราชธานี) พวงพีเหลือง (เลย) หัวลิง (สระบุรี) ฉัตรฟ้า สาวสวรรค์ (นครราชสีมา) ปรางมาลี (กลาง) นมสวรรค์ (ใต้) น้ำนมสวรรค์ (ระนอง)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Clerodendrum paniculatum L.
ชื่อพ้อง
Clerodendrum pyramidale Andrews.
ชื่อวงศ์
Lamiaceae (Labiatae)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์            ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 0.5-4 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลแกมเขียว กิ่งอ่อนต้นอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปฝ่ามือ รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม กว้าง 7-38 เซนติเมตร ยาว 4-40 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึก 3-7 แฉก ปลายแฉกแหลม ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนและต่อมกระจายทั้งสองด้าน หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ใบด้านล่างมีขนสากคายมือ ท้องใบสีอ่อนกว่า ก้านใบยาว 3-15 เซนติเมตร หรือยาวกว่า มีร่องตามยาว ดอกช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ออกที่ปลายยอด สีแดงหรือส้ม รูปเป็นชั้นคล้ายฉัตรหรือรูปไข่ ขนาดช่อดอก กว้าง 20-30 เซนติเมตร ยาว 30-35 เซนติเมตร ก้านช่อเป็นเหลี่ยม กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง มี 5 กลีบ มีขนกระจายด้านนอก กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 0.7-1.4 ซม. มีขนและต่อมกระจายด้านนอก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้มี 4 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน ยาวโค้งพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่ทรงรีเกือบกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า เกสรเพศผู้อันยาว หรือยาวกว่าเล็กน้อย ยอดเกสรแยกเป็น 2 แฉก สั้นๆ ใบประดับรูปไข่แกมรูปรี คล้ายใบ ยาว 1-5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยรูปแถบยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูประฆังสีส้มแดง มี 5 กลีบ โคนเชื่อมกัน หลอดกลีบเลี้ยงสั้นๆ ปลายแยก 5 กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีต่อมและขนกระจาย ผลสดรูปทรงกลม ขนาดเล็ก สีเขียว ผลผนังชั้นในแข็ง ทรงกลมๆ มี 2-4 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-9 มิลลิเมตร เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว หรือดำ มีเมล็ดเดียว แข็ง เมื่อสุกมีสีแดงคล้ำ พบตามป่าเต็งรัง ออกดอกช่วงเดือนมกราคม ถึงเมษายน


สรรพคุณ    
              หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ฝนทา แก้ฝี ประดงลม ประดงไฟ ฝนกับน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง แก้ไข้ หรือต้มน้ำดื่ม ช่วยขับน้ำคาวปลา บำรุงน้ำนม
              ตำรายาไทย ใช้ ใบ ดอก ต้นและราก รสเมาร้อน ใบ รสเมาออกร้อน ใช้ตำพอกแก้ลมในทรวงอก แก้ทรวงอกอักเสบ รักษาอาการแน่นหน้าอก พอกแก้ไข่ดันบวม และพอกแก้ลูกหนูใต้รักแร้ แก้พิษฝีดาษ ใบสดตำพอก แก้โรคปวดข้อ และปวดประสาท ดอก มีรสเมาออกร้อน แก้โลหิตในท้อง แก้พิษฝีกาฬ แก้ตกเลือด แก้พิษสัตว์กัดต่อย และพิษที่เกิดจากการติดเชื้อ ราก มีรสเมาออกร้อน แก้ไข้มาลาเรีย ขับลม แก้พิษฝีภายใน (วัณโรค) แก้ไข้เพื่อโลหิต (อาการไข้ และมีถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง) แก้ไข้เหนือ ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วร่าง เป็นยาถ่าย ต้น มีรสเมาออกร้อน แก้พิษตะขาบแมลงป่องต่อย แก้ฝีผักบัว แก้อักเสบเนื่องจากตะขาบ และแมงป่องต่อย แก้พิษฝีฝักบัว ราก ดอก และลำต้น แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยและแก้ฝีภายใน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น