วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ชื่อสมุนไพร
บอระเพ็ด
ชื่ออื่นๆ
เครือเขาฮอ (หนองคาย) จุ่งจิง (เหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย) ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน(สระบุรี) หางหนู(สระบุรี อุบลราชธานี) จุ้งจาลิงตัวแม่ เจตมูลย่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson
ชื่อพ้อง
Tinospora tuberculata Miers, Tinospora rumphii Boerl., Tinospora nudiflora Kurz.
ชื่อวงศ์
Menispermaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวถึง 15 เมตร เถากลม ขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มเปลือกของเถาบางลอกออกได้ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมากเปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส  เถามีรสขมจัด สีเทาแกมเหลือง มีรากอากาศคล้ายเส้นด้ายยาว กลม ยาว สีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักเป็นรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง หรือรูปกลม กว้าง 6-12เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร โคนเรียวแหลมยาว ปลายจักเป็นรูปหัวใจลึก หรือตื้น เนื้อคล้ายแผ่นกระดาษบาง มักมีต่อม ใบด้านล่างบางครั้งพบต่อมแบนตามโคนง่ามของเส้นใบ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือมี 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ ก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร บวมพอง และเป็นข้องอ ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งแก่ๆที่ไม่มีใบ มักออกดอกเมื่อใบหลุดร่วงหมด มี 2-3 ช่อ เล็กเรียว ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่ต่างดอก ช่อดอกเพศผู้ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกมี 1-3 ดอก ติดเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ มีก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาว 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน วงนอกมี 3 กลีบ รูปไข่ หนาที่โคน ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร วงในมี 3 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลม หรือโคนแหลม ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบวงนอกเท่านั้นที่เจริญขึ้น รูปใบหอกกลับแคบ แบน ไม่มีตุ่ม ยาว 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้มี 6 อัน ยาว 2 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย ยาว 2-6 มิลลิเมตร ดอกส่วนมากเกิดเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ปลอมมี 6 อัน เป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 3 อัน ทรงรี ยาว 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูสั้นมาก ผลออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีก้านผลเป็นรูปกึ่งปิรามิด ยาว 2-3 มิลลิเมตร ใต้ลงมาเป็นกลีบเลี้ยงที่ติดแน่น รูปไข่ ยาว 2 มิลลิเมตร โค้งกลับ ผลสด เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้ม ทรงรี ยาว 2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในสีขาว ทรงรี กว้าง 7-9 มิลลิเมตร ยาว 11-13 มิลลิเมตร ผิวย่นเล็กน้อย หรือเกือบเรียบ มีสันที่ด้านบนชัด มีช่องเปิดรูปรีเล็กที่ด้านบน พบตามป่ารุ่น ป่าที่ถูกแผ้วถาง ป่าผลัดใบผสม ตามริมรั้ว ออกดอกปลายเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม



สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย  ใช้  เถา มีรสขมจัดเย็น แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้สะอึก แก้มาลาเรีย เป็นยาขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนในดีมาก แก้อหิวาตกโรค แก้ท้องเสีย ไข้จับสั่น ระงับความร้อน ทำให้เนื้อเย็น แก้โลหิตพิการ ใช้ภายนอกใช้ล้างตา ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส ใบ มีรสขมเมา เป็นยาพอกบาดแผล ทำให้เย็นและบรรเทาอาการปวด ดับพิษปวดแสบปวดร้อน พอกฝี แก้ฟกช้ำ แก้คัน แก้รำมะนาด ปวดฟัน ฆ่าแมลงที่เข้าหู ฆ่าพยาธิไส้เดือน แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง บำรุงน้ำดี  ราก มีรสขม เป็นยาช่วยให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ รากอากาศ รสขมเย็น แก้ไข้ขึ้นสูงมีอาการคลั่งเพ้อ ดับพิษร้อน ถอนพิษร้อน ถอนพิษไข้ เจริญอาหาร ผล รสขม แก้ไข้ แก้เสมหะเป็นพิษ ทุกส่วนของพืช ใช้แก้ไข้ เป็นยาบำรุง แก้บาดทะยัก โรคดีซ่าน ยาเจริญอาหาร แก้มาลาเรีย
             ตำราอายุรเวทของอินเดีย  ใช้  เถา เป็นยาแก้ไข้ เช่นเดียวกับชิงช้าชาลี กล่าวไว้ว่า แก้ไข้ดีเท่ากับซิงโคนา แก้ธาตุไม่ปกติ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้อาการเกร็ง

องค์ประกอบทางเคมี  
          เถามีสารขมชื่อ picroretin, columbin, picroretroside, ไดเทอร์ปีนอยด์ชื่อ  tinosporan, columbin สารประเภทเอมีนที่พบคือ N-trans-feruloyl tyramine, N-cis-feruloyl tyramine สารฟีโนลิค ไกลโคไซด์ คือ tinoluberide

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น