วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ชื่อสมุนไพร
พะยูง
ชื่ออื่นๆ
ขะยุง (อุบลราชธานี), แดงจีน (ปราจีนบุรี), ประดู่ตม, ประดู่น้ำ (จันทบุรี), พะยูงไหม (สะบุรี), ประดู่ลาย (ชลบุรี), ประดู่เสน (ตราด), กระยง, กระยุง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia cochinchinensis Pierre.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์
Leguminosae -Papilionoideae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นสูง 15-30 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่หรือแผ่กว้าง โปร่ง เปลือกต้นสีเทาเรียบ แตกไม่เป็นระเบียบ และหลุดร่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม้มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 7-9 ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งหู โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว คล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างสีเขียวนวล แกนกลางใบประกอบยาว 10-15 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-6 เซนติเมตร ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาว 10-20 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้น กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกยาว 0.8-1 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็น 2 มัด ดอกร่วงพร้อมกัน ภายใน 2-3 วัน ผลเป็นฝักแห้งไม่แตกออก ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก ฝักรูปขอบขนาน แบนบาง เกลี้ยง กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลเข้ม 1-4 เมล็ด ต่อฝัก ผิวเมล็ดค่อนข้างมัน กว้างประมาณ 4 มม. ยาว 7 มม. ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ที่ความสูง 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เนื้อไม้มีสีสันและลวดลายสวยงามจนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดโลก เนื้อไม้พะยูงมีความละเอียดเหนียว แข็งทนทานและชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัวจึงมักใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ มีชื่อเป็นมงคล เชื่อว่าปลูกไว้จะช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย


              สรรพคุณ   
              ยาพื้นบ้านอีสานใช้ เปลือกต้นหรือแก่น ผสมแก่นสนสามใบ แก่นแสมสาร และแก่นขี้เหล็ก ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง เปลือกต้นหรือแก่น ผสมลำต้นหวาย ต้มน้ำดื่ม แก้เบาหวาน
              ตำรายาไทย ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม  เปลือก ต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง  ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย

              องค์ประกอบทางเคมี
              ลำต้นพบสารกลุ่มฟีนอลิกและฟลาโวน ได้แก่  9-hydroxy-6,7-dimethoxydalbergiquinol,   6-hydroxy-2,7-dimethoxyneoflavene,   6,4'-dihydroxy-7-methoxyflavan ,   2,2',5-trihydroxy-4-methoxybenzophenone,  7-hydroxy-6-methoxyflavone

             ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
              สารฟีนอลิกจากลำต้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5alpha-reductase ทำให้ลดปริมาณการสร้างฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน อาจนำไปพัฒนายารักษาโรคที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป

            ปัจจุบันน่าเศร้ามาก แม้จะหารูปต้นพะยูงในอินเตอร์เน็ต ก็พบการตัดพะยูงเต็มไปหมดอีกไม่กี่ปีคงไม่เหลือให้เห็นแล้ว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเตอร์เน็ต




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น