วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ต้นจาก

           ต้นจาก เป็นไม้ป่าชายเลน ที่มีความสำคัญในด้านการอนุบาลสัตว์น้ำ การป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง ขณะเดียวกันเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ใช้ใบห่อขนม ใช้ใบทำหลังคา รวมถึงผลจาก และน้ำจากที่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากลูกจากมีเนื้อนุ่ม หอมหวาน ส่วนน้ำจากให้รสหอมหวานเช่นกัน
ต้นจาก (Nypa plam, Nipa plam, Mangrove plam) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Nypa fruticans Wurmb ในวงศ์ Plamae เป็นพืชในตระกูลปาล์ม พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่ติดชายทะเล และปากอ่าวแม่น้ำที่ติดกับทะเล มีชื่อเรียกทั่วไป คือ จาก ส่วนบางท้องถิ่นในภาคใต้ เรียก อัตต๊ะ ประเทศมาเลเชีย และอินโดนีเชีย เรียก อาปง ประเทศเวียดนาม เรียก ดาวนัก ประเทศฟิลิปปินส์ เรียก นิพีรา และประเทศบังคลาเทศ เรียก กอลพาตา

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

1. ลำต้น และราก
ลำต้นเป็นเหง้าใต้ดินหรือโผล่เหนือดิน มักเรียกว่า หินจาก ต้นเกิดติดกันเป็นกลุ่มกอ มีลักษณะอ้วนสั้น และแบน แตกออกเป็น 2 ง่าม โดยเยื่อของส่วนลำต้น และโคนก้านใบมีโพรงอากาศ เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 5-8 เมตร ลำต้นใหม่อาจเกิดจากการแตกกอใหม่หรือเกิดจากเมล็ดใหม่ที่เกิดใกล้กับต้นเก่าเรียงซ้อนกันแน่น ส่วนของรากเป็นระบบรากฝอย แตกออกจากด้านล่างของลำต้น จำนวนของรากต่อต้นจำนวนมาก และมีขนาดยาว ทำให้พื้นที่โดยรอบลำต้นจะกระจุกตัวด้วยรากจำนวนมาก




2. ใบ
ใบจากมีลักษณะเป็นใบเดี่ยวแบบขนนก ยาวประมาณ 3-9 เมตร แตกออกโดยรอบจากลำต้น ใน 1 ลำต้นจะมีใบประมาณ 4-8 ใบ ก้านใบมีลักษณะอวบใหญ่ เรียก พงจาก หรือ ทางจาก โดยเฉพาะส่วนโคนก้านใบที่เรียกว่า พอนจาก เชื่อว่าเป็นแหล่งสร้าง และกักเก็บน้ำหวานของจาก ก้านใบประกอบด้วยใบย่อย เรียกว่า ทางจาก ประมาณ 30-40 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเรียวยาว คล้ายใบมะพร้าว แต่ขนาดใบกว้างกว่า ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร ใบที่แก่แล้วจะทิ้งใบย่อย เหลือเฉพาะก้านใบจนก้านใบแห้งเหี่ยว และค่อยๆหักไปคงเหลือเป็นลักษณะรอยหักไว้กับลำต้น
3. ดอก
ดอกจากมีทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียในต้นเดียวกัน ก้านดอก เรียว่า นกจาก แทงออกจากกลางลำต้นบริเวณโคนก้านใบ ความยาวทั้งช่อดอกประมาณ 50-100 เซนติเมตร หรือมากกว่า โดยดอกจะออกเป็นช่อ ถูกหุ้มด้วยกาบสีส้ม ประกอบด้วยดอกเพศเมียที่เรียงอัดกันแน่นที่ปลายช่อดอก ส่วนดอกเพศผู้ที่มีขนาดเล็กจะแตกออกบริเวณช่อดอกตัวเมีย ลักษณะของดอกเพศผู้ และเพศเมียจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยง และกลีบดอก 3 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ส่วนละอองเรณูมีลักษณะเป็นหนาม
4. ผล
ผลจากมีลักษณะอัดรวมกันแน่นบริเวณสวนปลายก้านดอก เรียกว่า ทะลาย หรือ โหม่งจาก โดย 1 ทะลายประกอบด้วยผลประมาณ 50-120 ผล ผลมีลักษณะใหญ่ที่ขั้วผล และเล็กที่ปลายผล ขนาดยาว 10-12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร มีหนามแหลมสั้นที่โคนผล น้ำหนักผลที่ 15-20 ผล/กิโลกรัม ผลมีลักษณะสามเหลี่ยม เปลือกผลหนา สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง โดย 1 ผล จะมี 1 เมล็ด อยู่ถัดจากเปลือกผลที่ประกอบด้วยเนื้อผลสีขาว ด้านในกลวงมีน้ำ ซึ่งจะพบได้ขณะที่ผลยังอ่อน ถือเป็นระยะที่เหมาะสำหรับนำมารับประทาน แต่หากเมล็ดแก่มากจะมีเนื้อแข็ง และเหนียวทั้งเมล็ด ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายผลตาลแก่ ไม่นิยมนำมารับประทาน และจะร่วงลงดินหรือลอยไปกับกระแสน้ำจนถึงช่วงน้ำลดตกลงจมโคลนจนเกิดเป็นต้นจากใหม่อีกครั้ง
ประโยชน์ของจาก
จากเป็นพืชที่คนไทยรู้จักมานาน และใช้ประโยชน์ของจากได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ใบจนถึงผล ใบจากมีลักษณะคล้ายใบมะพร้าว แต่มีความเหนียว และกว้างกว่า ทำให้สามารถใช้นำมาเย็บเป็นตับ เรียกว่า "ตับจาก" แล้วนำไปมุงหลังคา กันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะใช้งานไปนาน ใบจากกรอบ เปลี่ยนจากสีเขียวเข้ม เป็นสีเหลือง สีน้ำตาล กระทั่งเกือบเป็นสีดำ แต่ก็ยังคงกันฝนและแดดได้ จนกว่าจะแห้งกรอบและผุไป ใช้ทำหมวกที่เรียก "เปี้ยว" พอนจากใช้ทำเชื้อเพลิง ใบจากอ่อนตากแห้งใช้มวนยาสูบ ห่อขนมต้ม ทำที่ตักน้ำเรียก "หมาจาก" ตอกบิด เสวียนหม้อ ใช้ห่อขนมจาก ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ผสมกันจนเหลวได้ที่ แล้วนำห่อด้วยใบจาก ปิ้งบนไฟ จนมีกลิ่นหอม แม้อาจมีการใช้ใบมะพร้าวมาห่อ แต่ก็ไม่อร่อยเท่าใช้ใบจาก ใบจากใช้ต้มน้ำดื่มแก้อาการท้องร่วงได้ ในหมู่เกาะโรตีและซาวูใช้ใบจากเป็นอาหารหมูเพื่อให้เนื้อหมูมีรสหวาน
ช่อดอกนำมาทำแกงหรือกินกับน้ำพริก ก้านช่อดอกปาดเอาน้ำหวานมาทำเป็นน้ำตาลได้ เรียก "โซม" หรือนำไปหมักเป็นเหล้าและน้ำส้มสายชู กลีบดอกนั้นนำไปเป็นส่วนผสมของชาสมุนไพรได้ผลจากที่สุกแล้ว จะมีเนื้อในเมล็ดเป็นเยื่อสีขาว ใส นุ่ม มีรสหวาน นิยมรับประทานเป็นของหวาน เรียกลูกจาก ผลอ่อนที่แตกหน่อ จะมีจาวอยู่ข้างใน นำมารับประทานได้เช่นเดียวกับจาวตาล หรือจาวมะพร้าว

การทำน้ำส้มสายชู

ในการทำน้ำส้มสายชู นั้นจะมีขั้นตอนทุกอย่างคล้ายกับการทำน้ำตาล แต่ไม่ต้องนำน้ำหวานขึ้นเตาเพื่อเคี่ยว เพียงแต่หมักไว้ในไหประมาน 10 วัน ก็จะเกิดกรดน้ำส้มเพื่อใช้มาบริโภค หากต้องการเก็บไว้นานเป็นปี มักจะเติมเกลือและกระเทียมลงไปด้วย แต่ถ้าไม่ใส่กระเทียมและเกลือก็จะเก็บไว้ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ในกรณีของน้ำตาลสด พืชตระกูลปาล์มอื่นๆ เช่น ตาลโตนด ก็สามารถที่จะนำหมักเป็นน้ำส้มสายชูได้ เช่นเดียวกับน้ำตาลจาก ขั้นตอนในการผลิตมีความคล้ายคลึงกับการทำน้ำตาลจากในช่วงแรก แต่การทำน้ำส้มจะไม่ใส่เปลือกเคี่ยมในกระบอกรองรับน้ำหวาน และไม่ต้องต้มเคี่ยว เพียงแต่หมักในไห 10 วัน ก็จะเกิดรสเปรี้ยว ผู้ที่ทำน้ำส้มสายชูนั้น มักจะทำรวมกันกับอาชีพอื่น สามารถผลิตน้ำส้มได้วันละ 15-20 ลิตร โดยขายส่งในราคาลิตรละ 5 บาท ทำให้มีรายได้วันละ 75-100 บาท ถ้าหากขายปลีกจะขายเป็นขวด หรือลิตรละ 8 บาท รายได้ตะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 120-160 บาท ทำให้มีรายได้ต่อเดือน 2250-3000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น